ทำไมต้องวัดสายตาที่ระยะ 6 เมตร และระยะ 6 เมตรสำคัญอย่างไร
บทนำ
บทความนี้เขียนขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่ออยากจะพัฒนาและยกระดับวงการแว่นตาให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ไม่คิดจะขัดผลประโยชน์ หรือ ดีสเครดิตใคร ภายในบทความนี้ได้เขียนถึงสาเหตุและความจำเป็นในการตรวจวัดสายตาว่าทำไมต้อง 6 เมตร เอาไว้อย่างละเอียดโดยใช้ศัพย์เทคนิคน้อยมากเพราะอยากให้ผู้ที่ได้อ่านทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการจะได้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนหวังไว้เป็นอย่างสูงว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการ
แรงบันดาลใจ
ในปัจจุบันได้เห็นร้านแว่นตาตามสถานที่ต่าง ๆ มากมาย และได้สังเกตุเห็นบริเวณพื้นที่ ๆ ใช้ในการตรวจวัดสายตานั้นระยะที่ใช้ในการตรวจวัดเป็นระยะที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่วนใหญ่พบเจอถึงกว่าร้อยละ 70 โดยสาเหตุที่พบเจอนั้นส่วนใหญ่จะมาจาก
จากสาเหตุที่พบในเบื้องต้นในความเป็นจริงนั้นเราสามารถจัดการกับปัญหาที่พบได้ เช่น
เข้าเรื่อง
ในส่วนของการตรวจวัดสายตานั้นสิ่งสำคัญนั่นคือความคมชัด และความคมชัดของดวงตาที่เกิดขึ้นนั้นต้องอยู่ในสภาวะที่ดวงตาต้องผ่อนคลายและปราศจากการเพ่งเป็นองค์ประกอบหลัก เพราะฉะนั้นมาตรฐานการตรวจวัดสายตาจึงมีความสำคัญและต้องอ้างอิงและเทียบเคียงได้ สิ่งสำคัญเป็นอันดับแรกสุดของการตรวจวัดสายตานั่นคือระยะที่ใช้ในการตรวจ สำหรับระยะที่ใช้ในการตรวจวัดสายตาในระยะไกลมาตรฐานสากลคือ 6 เมตร หรือ 20 ฟุต การเทียบเคียงในด้านมาตรฐานการมองเห็น หรือค่าของความคมชัด เราเรียกว่า Visual acuity หรือเรียกย่อๆ ว่า VA นอกจะระยะที่ใช้ในการตรวจวัดสายตาแล้วยังต้องมีแผ่นชาร์ตที่ใช้ทดสอบสายตา โดยทั่วไปที่เราคุ้นเคยกันอยู่และเห็นอยู่ในโรงพยาบาลหรือในสถานประกอบการร้านแว่นตาทั่วไปเราเรียกว่า Snellen chart ภายในแผ่นชาร์ตจะมีขนาดตัวอักษรเรียงจากด้านบนสุดตัวอักษรจะใหญ่ที่สุด ถึงแถวด้านล่างสุดเป็นตัวอักษรที่เล็กที่สุด ดังรูป
สำหรับต้นกำเนิดของการสร้างชาร์ตวัดสายตาแบบ Snellen chart นั้นมาจากนักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตุมองดวงดาวบนท้องฟ้า และค้นพบว่ามนุษย์สามารถแยกดาว 2 ดวง หรือ วัตถุ 2 สิ่งออกจากกันได้นั้นต้องทำมุมกันอย่างน้อย 1 minute of arc (1/60 องศา)
นักวิทยาศาสตร์จึงได้ออกแบบตัวอักษรให้มีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ตัวอักษรแต่ละตัวมีขนาด 5 minute of arc ทำการแบ่งแต่ละตัวเป็น 5 ส่วน ๆ ละ 1 minute of arc และให้ทำมุม 1 minute of arc กับดวงตาในระยะ 6 เมตร โดยขนาดตัวอักษรจะแบ่งตามขนาดใหญ่เล็กตามระยะการมอง ดังรูป
ทีนี้มาดูเรื่องการตีความของคำว่าค่าความคมชัดหรือ VA กัน การเขียนค่าความคมชัดจะเขียนอยู่ในรูปของเศษส่วน เช่น VA = 20/20 , VA = 20/80 , VA=20/100 แล้วแปลความหมายอย่างไร
VA = 20/20 หมายความว่า เมื่อวัดสายตาที่ระยะ 20 ฟุต คนไข้อ่านตัวอักษรแถว 20/20 ได้ทุกตัว แสดงว่าคนไข้เป็นสายตาปรกติ
VA = 20/80 หมายความว่า เมื่อวัดสายตาที่ระยะ 20 ฟุต ผู้ถูกวัดอ่านตัวอักษรแถว 20/80 ได้ทุกตัว แต่ไม่สามารถอ่านตัวอักษรตัวเล็กกว่านี้ได้ แสดงว่าผู้ถูกวัดสายตาผิดปรกติ
อีกความหมายหนึ่งตัวอักษรแถว 20/80 นี้ คนปรกติสามารถมองเห็นได้ที่ระยะ 80 ฟุต แต่ผู้ถูกวัดมองเห็นชัดที่ระยะ 20 ฟุต แสดงว่าผู้ถูกวัดสายตาผิดปรกติ
VA = 20/100 หมายความว่า เมื่อวัดสายตาที่ระยะ 20 ฟุต คนไข้อ่านตัวอักษรแถว 20/100 ได้ทุกตัว แต่ไม่สามารถอ่านตัวอักษรตัวเล็กกว่านี้ได้ แสดงว่าผู้ถูกวัดสายตาผิดปรกติ
อีกความหมายหนึ่งตัวอักษรแถว 20/100 นี้ คนปรกติสามารถมองเห็นได้ที่ระยะ 100 ฟุต แต่ผู้ถูกวัดมองเห็นชัดที่ระยะ 20 ฟุต แสดงว่าผู้ถูกวัดสายตาผิดปรกติ
จะสังเกตเห็นว่าถ้าค่าความคมชัด หรือ VA ของผู้ถูกวัดตัวเลขที่เป็นเศษส่วน ถ้าเลขตัวส่วนยิ่งมากเท่าไหร่แสดงว่าค่าความสามารถด้านการมองเห็นจะต่ำลงเท่านั้นเป็นเงาตามตัว ถ้าหากค่าการมองเห็นลดต่ำลงมาก ๆ คนไข้ควรได้รับการตรวจประเมินโรคตาจากจักษุแพทย์ เพื่อทำการรักษาต่อไป
แล้วทำไมต้อง 6 เมตร
หลักในการมองเห็นนั้น มนุษย์จะสามารถมองได้คมชัดและผ่อนคลายดวงตาต้องปราศจากการเพ่ง เลนส์ตาต้องคลายตัว ระยะที่พูดถึงนั้นคือระยะอนันต์(infinity) แต่การวัดสายตาในระยะอนันต์นั้นมันเป็นไปไม่ได้จึงต้องหาระยะที่เปรียบเสมือนกับระยะอนันต์และดวงตาไม่มีการเพ่ง จึงกำหนดระยะที่เหมาะสมไว้ที่ 6 เมตร หรือ 20 ฟุต นั่นเอง ทีนี้มาเช็คระดับการเพ่งในระยะต่าง ๆ กันครับ
จากสูตร D = 1/f
ระยะ 1 m D=1/1 = 1 D
ระยะ 2 m D=1/2 = 0.5 D
ระยะ 3 m D=1/3 = 0.333 D
ระยะ 4 m D=1/4 = 0.25 D
ระยะ 5 m D=1/5 = 0.20 D
ระยะ 6 m D=1/6 = 0.1667 D
ระยะ 7 m D=1/7 = 0.1428 D
ระยะ 8 m D=1/8 = 0.125 D
จะเห็นว่าระยะยิ่งไกลเท่าไหร่ ระบบการเพ่งปรับโฟกัสยิ่งทำงานน้อยลงเท่านั้น แต่ระยะที่เหมาะสมในการตรวจวัดสายตาที่เป็น 6 เมตร หรือ 20 ฟุต นั้นเป็นเพราะว่าในระยะนี้ดวงตาใช้กำลังในการเพ่งปรับโฟกัสเพียง 0.166667 D เท่านั้น ซึ่งการเพ่งเพียงเท่านี้ดวงตาของมนุษย์สามารถปรับโฟกัสได้เองอยู่แล้วโดยไม่ต้องอาศัยการเพ่งของเลนส์ตา เราเรียกระบบปรับโฟกัสนี้ว่า depth of fogus นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมต้องวัดสายตาที่ระยะ 6 เมตร
แต่ถ้าวัดสายตาใกล้กว่า 6 เมตร ระบบการเพ่งปรับโฟกัสก็จะทำงานมากขึ้นเกินกว่าระบบ depth of fogus จะทำงานได้ ยิ่งระยะวัดสายตาใกล้มากเท่าไหร่ระบบการเพ่งปรับโฟกัสของเลนส์ตาก็จะทำงานมากขึ้นเท่านั้น
หากวัดสายตาใกล้กว่า 6 เมตร หรือ 20 ฟุต โอกาสเกิดข้อผิดพลาดจะเป็นดังนี้ คือ
- หากคนไข้หรือลูกค้าเป็นสายตาสั้นจะได้ค่าสายตาที่น้อยกว่าความเป็นจริง เพราะระบบปรับโฟกัสของเลนส์ตายังไม่คลายตัว ยังมีการเพ่งของเลนส์ตาอยู่ เมื่อทำการตรวจวัดในระยะนี้ค่าที่ได้จึงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ตัวอย่างเช่น หากวัดสายตาที่ระยะ 3 เมตร ระบบการปรับโฟกัสจะทำงาน D=1/3 = 0.333 D
- หากคนไข้หรือลูกค้าเป็นสายตายาวจะได้ค่าสายตาที่มากกว่าความเป็นจริง เพราะระบบปรับโฟกัสของเลนส์ตายังไม่คลายตัว ยังมีการเพ่งของเลนส์ตาอยู่ เมื่อทำการตรวจวัดในระยะนี้ค่าที่ได้จึงมากกว่าที่ควรจะเป็น ตัวอย่างเช่น หากวัดสายตาที่ระยะ 2 เมตร ระบบการปรับโฟกัสจะทำงาน D=1/2 = 0.50 D
- Snellen chart หรือแผ่นชาร์ตวัดสายตาถูกออกแบบมาสำหรับระยะ 6 เมตรหรือ 20 ฟุต หากทำการตรวจวัดสายตาใกล้กว่านี้เราจะไม่สามารถนำค่าที่ได้ไปเทียบเคียงกับค่าที่เป็นมาตรฐานสากลได้ ยกตัวอย่างเช่นเวลาคุณหมอตรวจตา คุณหมอจะดูค่าความคมชัด หรือ VA ก่อนเป็นอันดับแรก หาก VA ไม่ดี จึงจะทำการตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุ และทำการรักษาต่อไป ฉะนั้นหากระยะที่ใช้ตรวจไม่ถูกต้องค่าที่ได้จึงไม่สามารถนำไปใช้เป็นมาตรฐานได้
- นอกจากเรื่องสายตาแล้วยังมีเรื่องที่สำคัญนั่นคือระบบการทำงานร่วมกันของตาทั้ง 2 ข้าง (Binocular vision) การตรวจการทำงานร่วมกันของดวงตาทั้ง 2 ข้างต้องกระทำที่ระยะ 6 เมตร เป็นมาตรฐาน หากตรวจวัดที่ระยะใกล้กว่านี้ระบบการเพ่งปรับโฟกัสของเลนส์ตายังทำงานอยู่จึงกระตุ้นให้ระบบ vergence ทำงานตามไปด้วย ค่า Phoria ที่วัดได้ในระยะใกล้กว่า 6 เมตรจึงนำมาใช้งานเป็นมาตรฐานไม่ได้ *** หมายเหตุ Accommodation หรือระบบการเพ่งปรับโฟกัส มีความสำพันธ์กับระบบ Vergence หรือระบบการเบนเข้าและเบนออกของตาโดยตรง หรือเขียนเป็นศัพท์เทคนิคคือ AC/A Ratio ***
สรุป
การตรวจวัดสายตาที่ได้มาตรฐานนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง ความสำคัญของการวัดสายตาที่ระยะ 6 เมตร มีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะสามารถนำค่าความสามารถทางด้านการมองเห็นหรือ VA ไปประเมินความผิดปรกติของตาได้ว่าเป็นความผิดปรกติทางด้านสายตาหรือเป็นโรคตา หาก VA ต่ำลงมาก ๆ ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคทางตากับจักษุแพทย์
จะเห็นได้ว่าค่า VA ที่ใช้อ้างอิงนั้นเราอ้างอิงที่ระยะ 6 เมตร หากระยะวัดสายตาต่ำกว่านี้เราจะไม่สามารถนำค่าที่ได้ไปเทียบเคียงเป็นมาตรฐานได้
สุดท้ายผมเองหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะกระตุ้นเตือนให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของมาตรฐานการตรวจวัดสายตา และอยากให้ผู้บริโภคเข้าใจในบริบทของการแก้ไขปัญหาสายตาว่าการวัดสายตานั้นสำคัญและทำไมต้องทำการตรวจวัดที่ระยะ 6 เมตร
นาย อนิรุจน์ เรือนทองดี
นักตรวจปรับสายตา