สาระน่ารู้


แสงสีน้ำเงินมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร


แสงสีน้ำเงินเป็นคลื่นแสงที่มีอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติ มีทั้งประโยชน์และโทษ และเราควรปรับตัวอย่างไรกับคลื่นแสงสีน้ำเงินเหล่านี้

ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับแสง

         เมื่อเราตื่นลืมตาดูโลกเราก็จะมองเห็นแสงสว่าง ซึ่งแหล่งกำเนิดแสงตามธรรมชาตินั้นคือดวงอาทิตย์ ส่วนแหล่งกำเนิดแสงอีกชนิดหนึ่งคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและสามารถมองเห็นและใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น หลอดไฟ มือถือ คอมพิวเตอร์ แทบเลต ซึ่งแสงสีต่าง ๆ ที่เรามองเห็นนั้นพอมาอยู่รวมกันเราจะเรียกว่าแสงขาว และแสงขาวที่เรามองเห็นจะประกอบไปด้วยแสงสีทั้งหมด 7 สี เราเรียกว่าสเปกตรัมของแสง เรียงตามลำดับความยาวคลื่นแสงจากน้อยไปมากได้ดังนี้ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด และแดง

        แสงสีต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นทั้งหมดนี้มนุษย์สามารถมองเห็นได้ ส่วนสาเหตุที่เรามองเห็นแสงสีต่างกันนั้นเกิดจากความยาวคลื่น โดยแสงแต่ละตัวมีความยาวคลื่นและมีพลังงานแตกต่างกัน แสงที่เรามองเห็นได้นั้นจะอยู่ในช่วงความยาวคลื่น 380 – 750 นาโนเมตร

        เราสามารกระจายแสงขาวผ่านก้อนปริซึมเพื่อแยกแสงขาวได้ 

       เมื่อกระจายแสงขาวผ่านปริซึมเราจะเห็นแสงสีรุ้งทั้งหมด 7 สี ตามความยาวของคลื่นแสง คือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด และแดง โดยแสงที่มีความยาวคลื่นสั้นความถี่จะสูงพลังงานของคลื่นแสงนั้นก็จะมาก ส่วนแสงที่มีความยาวคลื่นมากความถี่ของคลื่นก็จะน้อยลงพลังงาน   ของคลื่นแสงก็จะน้อย ดังนั้นแสงสีแดงจึงมีพลังงานน้อยที่สุด ส่วนแสงสีน้ำเงินอมม่วงจึงมีพลังงานมากที่สุด (สามารถดูจากรูปประกอบได้ครับ)      

  

       แสงที่มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้นั้นคือแสงอัลตราไวโอเลต (UV) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าคลื่นเหนือม่วง จะอยู่ในช่วงความยาวคลื่นน้อยกว่า 380 นั่นคือ 10 - 380 นาโนเมตร แสง UV แบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ UVC UVB UVA

       แสงอีกชนิดที่มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้อีกชนิดหนึ่งคือแสงอินฟราเรด อยู่ในช่วงความยาวคลื่นที่มากกว่า 750 นาโนเมตร หรืออยู่ระหว่าง ความยาวคลื่นแสงสีแดงกับคลื่นวิทยุ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ารังสีใต้แดง รังสีชนิดนี้เป็นรังสีความร้อนหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

แสงสีน้ำเงินคืออะไร

        อธิบายเกริ่นนำมาอย่างยาวนาน เริ่มเข้าเรื่องกันเลยครับ จากที่อธิบายออกมาในเบื้องต้นจะเห็นได้ว่าแสงสีน้ำเงินนั้นเป็นแสงที่อยู่ในช่วงความยาวคลื่นสั้นที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้จะอยู่ในช่วงความยาวคลื่น 380-500 นาโนเมตร และจะเห็นได้ว่าแสงสีน้ำเงินอมม่วงเป็นย่านความถี่ของแสงที่ให้พลังงานมากที่สุดจะอยู่ในช่วง 380-450 นาโนเมตร “ความยาวคลื่นสั้นความถี่สูงพลังงานจะมาก ความยาวคลื่นมากความถี่ต่ำพลังงานก็จะน้อย”

ประโยชน์และโทษของแสงอัลตราไวโอเลต (Ultra violet)                 

       รังสี UVเป็นรังสีที่มองไม่เห็น ให้พลังงานมาก หากได้รับรังสี UV ในปริมาณที่มากเกินไปจะไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน หากผิวหนังสัมผัสแสง UV มากเกินไปจะทำลายเนื้อเยื่อเซลล์ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น หรือเกิดอาการแสบและผิวหนังจะไหม้ได้ และอันตรายขั้นสูงสุดอาจทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้ด้วยเช่นกัน หากพูดถึงอันตรายที่เกิดกับดวงตานั้นหากกระจกตาได้รับแสงยูวีมากเกินไปอาจทำให้กระจกตาเกิดการไหม้ทำให้เกิดตาบอดได้ (ในกรณีนี้จะเกิดกับประเทศเมืองหนาวและมีหิมะคนในแถบพื้นที่แบบนี้จึงนิยมสวมแว่นตากันแดดเป็นประจำ) และอีกกรณีหากเลนส์ตาได้รับปริมาณแสง UV สะสมในปริมาณมากก็จะทำให้เป็นต้อกระจกไวกว่าปรกติได้ด้วยเช่นกัน

         ในด้านประโยชน์ของแสงยูวีนั้นหากร่างกายได้รับในปริมาณที่เหมาะสมก็จะเกิดผลดีต่อสุขภาพ โดยเมื่อร่างกายได้รับรังสี UV ในปริมาณที่เหมาะสมก็จะนำไปสร้างเป็น Vitamin D เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของร่างกาย เสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง

แสงสีน้ำเงิน อันตรายอย่างไร และมีประโยชน์บ้างไหม

         แสงสีน้ำเงินหรือ Blue light นั้น เป็นคลื่นแสงที่พบทั่วไปตามธรรมชาติ ทั้งที่มาจากดวงอาทิตย์ และที่มาจากแหล่งกำเนิดแสงที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่นหลอดไฟ LED จอทีวี จอคอมพิวเตอร์ แทบเลต โทรศัพท์มือถือ ไอโฟน ไอแพด ฯ แต่ปริมาณแสงสีน้ำเงินที่ถูกปล่อยออกมานั้นจะมีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันออกไป

       คลื่นแสงสีน้ำเงินอมม่วงเป็นคลื่นแสงที่มีพลังงานสูงที่สุดอยู่ในช่วงความยาวคลื่น 380-450 นาโนเมตรมีผลต่อการทำลายจอประสาทตาทำให้จอประสาทตาเสื่อมได้ ได้มีการศึกษาผลกระทบของแสงสีน้ำเงินกับดวงตามนุษย์ โดยเปิด Blue light เข้าในดวงตาของสัตว์ทดลองในระยะเวลาหนึ่งแล้วพบว่าแสงของ Blue light ได้ไปทำลายเซลล์รับภาพทำให้จอประสาทตาของสัตว์ทดลองเกิดอาการเสื่อม และเมื่อเพิ่มระยะเวลาให้แสง Blue light ส่องเข้าดวงตาสัตว์ทดลองนานขึ้นจะพบว่า Macula จะถูกทำลายจนส่งผลให้สัตว์ทดลองตาบอดได้ จากการทดลองจึงสรุปได้ว่าการได้รับแสงสีน้ำเงินอมม่วงหรือ Blue light ในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้

         คลื่นแสงสีน้ำเงินอมเขียวเป็นคลื่นแสงที่อยู่ในช่วงความยาวคลื่น 450 -500 นาโนเมตร เป็นคลื่นแสงที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับการทำงานของนาฬิกาชีวิต มีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้การหลับการตื่นเป็นเวลา กล่าวคือร่างกายหลับสนิทตอนกลางคืนและทำให้ร่างกายเกิดการตื่นตัวในตอนกลางวัน เพิ่มความจำ ช่วยในกลไกระลึกย้อนหลัง ทำให้อารมณ์สดใสร่าเริง แสงสีน้ำเงินอมเขียวยังถูกนำมาใช้ทางด้านการแพทย์ เช่น การรักษาโรคทางอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย 

         คลื่นแสงสีน้ำเงินเป็นคลื่นแสงที่มีความยาวคลื่นสั้นความถี่สูงพลังงานสูง แสงสีน้ำเงินเป็นคลื่นแสงที่มีอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติ เมื่อแสงจากดวงอาทิตย์เดินทางผ่านชั้นบรรยากาศของโลกที่มีโมเลกุลของอากาศและน้ำอยู่ก็จะเกิดการกระเจิงของแสงเป็นสีฟ้าทำให้เรามองเห็นท้องฟ้าเป็นสีครามสดใสในวันที่ท้องฟ้าโปร่ง จะเห็นได้ชัดในตอนหน้าหนาว

         แสงสีน้ำเงินอมม่วงทำให้ปวดตาขณะใช้อุปกรณ์ดิจิตอล ทั้ง จอแทบเลต โทรศัพท์มือถือ หรือจอคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ดิจิตอลต่าง ๆเหล่านี้ปล่อยคลื่นแสงสีน้ำเงินอมม่วงในปริมาณมากกว่าปรกติ ประกอบกับแสงสีน้ำเงินอมม่วงเป็นคลื่นแสงที่มีความถี่สูงพลังงานจึงสูงตาม ทำให้เกิดการกระเจิงของแสงง่ายกว่าแสงสีอื่น ทำให้ขณะเพ่งมองหน้าจอของอุปกรณ์ดิจิตอลที่กล่าวถึงเบื้องต้นนาน ๆ จึงรู้สึกปวดล้าดวงตาได้ง่ายเนื่องจากหน้าจอดิจิตอลเหล่านั้นมีการฟุ้งกระเจิงของแสงซ่อนอยู่ทำให้รู้สึกปวดล้าทางสายตาได้ สาเหตุเนื่องจากดวงตาต้องปรับโฟกัสอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับการอ่านหนังสือนั้นดวงตาจะรู้สึกปวดตาหรือล้าทางสายตาน้อยกว่าเพราะการอ่านหนังสือนั้นจะใช้แสงจากภายนอกมาตกกระทบและสะท้อนเข้าสู่ดวงตา ฉะนั้นการกระเจิงของแสงจึงเกิดน้อยกว่าทำให้ขณะอ่านหนังสือจึงมีความสบายตามากกว่าการใช้อุปกรณ์ดิจิตอล                                   

แสงสีน้ำเงินอมม่วงกับเลนส์แว่นตา

            ด้วยเทคโนโลยีของอุปกรณ์ดิจิตอลที่ล้ำหน้าในปัจจุบันที่ได้ปล่อยแสงสีน้ำเงินอมม่วงออกมาในปริมาณที่มาก ทำให้บริษัทผลิตเลนส์ค่ายดังได้คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์เลนส์สายตาเพื่อลดผลกระทบจากการใช้อุปกรณ์ดิจิตอลดังกล่าวด้วยการผลิตเลนส์กรองแสงสีน้ำเงินขึ้นมา ในที่นี้ผมขอเรียกเลนส์ชนิดนี้ในภาพรวมว่าเลนส์ BLUE CUT (แต่ละบริษัทเรียกชื่อแตกต่างกันเนื่องจากมีลิขสิทธิ์เป็นของตัวเอง) เทคโนโลยีของเลนส์ชนิดนี้คือการออกแบบให้ชั้นของมัลติโค๊ตสะท้อนเอาความถี่ของย่านแสงสีน้ำเงินอมม่วงออก ทำให้เห็นแสงสีน้ำเงินอมม่วงจางลง เลนส์จึงมีสีอมเหลืองอ่อน ๆ (ใช้หลักการ คือหากต้องการตัดแสงช่วงความยาวคลื่นสั้นออก ต้องกรองด้วยความยาวคลื่นที่สูงกว่า) เมื่อนำเลนส์ชนิดนี้สะท้อนกับแสงไฟจึงเห็นแสงของเลนส์สะท้อนออกมาเป็นสีน้ำเงินอมม่วง

            โดยปรกติ macula จะไวต่อการรับรู้สีเหลืองมากที่สุด การกรองแสงสีน้ำเงินอมม่วงที่ฟุ้งกระเจิงเนื่องจากเป็นแสงคลื่นความถี่สั้นออกทำให้เลนส์สายตานั้นจะเป็นสีอมเหลืองอ่อน ๆ ผู้สวมใส่แว่นตาชนิดเลนส์ BLUE CUT เลนส์ที่มีสีอมเหลืองจะช่วยเพิ่ม Contrast ทำให้ขณะใช้อุปกรณ์ดิจิตอลจึงรู้สึกสบายตา ชัดเจนขึ้น สามารถลดอาการเมื่อยล้าทางสายตาได้

       ในด้านโครงสร้างตานั้น  ทั้งในส่วนของเลนส์ตา กระจกตา หรือแม้กระทั่งในส่วนของจอประสาทตาธรรมชาติได้สร้างให้อวัยวะต่าง ๆเหล่านี้มีความสามารถในการป้องกันตัวเองทั้งจากแสงยูวี และ แสงสีน้ำเงินไม่ให้เข้าถึงจอประสาทตาหรือให้เข้าถึงน้อยที่สุดได้ดีมากอยู่แล้ว การใช้ผลิตภัณฑ์เลนส์ BLUE CUT เป็นอีกหนึ่งวิธีการป้องกันที่ช่วยเสริมทำให้แสง UV และแสงสีน้ำเงินเข้าถึงจอประสาทตาได้น้อยที่สุดทำให้ลดโอกาสการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม ช่วยชะลอให้เป็นต้อกระจกช้าลง และยังทำให้ในระหว่างที่เราใช้อุปกรณ์ดิจิตอลต่าง ๆ ดังที่กล่าวถึงข้างต้น ทำให้สบายตาขึ้น ชัดเจนขึ้น สามารถลดอาการปวดล้าทางสายตา  

ผลจากการใส่เลนส์ BLUE CUT

        เมื่อเราสวมใส่เลนส์ BLUE CUT มาตรฐานที่ตัดแสงสีน้ำเงินช่วง 380-450 นาโนเมตร ภาพที่เราเห็นจะอมสีเหลืองอ่อน ๆ สีสันต่าง ๆ ที่เห็นจึงมีความผิดเพี้ยนไปบ้างเล็กน้อยเพราะเราดรอปแสงสีน้ำเงินอมม่วงออกไป แต่ยังคงสีสันที่เป็นธรรมชาติอยู่ แต่สิ่งที่เราได้รับคือความสบายตา

           แต่ก็ยังมีเลนส์ BLUE CUT ที่ไม่ได้มาตรฐานจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดโดยจะตัดแสงสีน้ำเงินทุกช่วงความยาวคลื่นตั่งแต่ 380-500 นาโนเมตร โดยไม่สนใจผลข้างเคียงใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อดวงตาอย่างมากกล่าวคือทำให้ภาพที่เห็นอมเหลืองมากกว่าปรกติสีสันต่าง ๆ ที่มองเห็นผิดเพี้ยนไปมากเกินไป ผู้สวมใส่อาจจะรู้สึกแสบตา และไม่สบายตาได้ และที่สำคัญการตัดแสงสีน้ำเงินทุกช่วงความยาวคลื่นจะไปทำลายกลไกการหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆในร่างกาย

สรุป

        สำหรับแสงสีน้ำเงินที่เป็นอันตรายนั้นจะเป็นแสงสีน้ำเงินอมม่วงอยู่ในช่วงความยาวคลื่น 380-450 นาโนเมตร แต่สำหรับแสงสีน้ำเงินอมเขียวจะเป็นแสงสีน้ำเงินที่มีประโยชน์อยู่ในช่วงความยาวคลื่น 450- 500 นาโนเมตร เพราะฉะนั้นเลนส์ BLUE CUT ที่ดีควรตัดแสงสีน้ำเงินอมม่วงที่ความยาวคลื่นไม่เกิน 450 นาโนเมตร

       ในปัจจุบันเลนส์ BLUE CUT มีหลายบริษัทเลนส์ในเมืองไทยที่นำเข้า หรือ ผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ ผู้บริโภคควรเลือกเลนส์ที่มีคุณภาพดีโดยสังเกตได้จากแบรนด์เนมที่เป็นมาตรฐานสากล เลนส์ BLUE CUT ที่มีคุณภาพดีจะตัดแสงสีน้ำเงินอมม่วงในช่วงความยาวคลื่นไม่เกิน 450 นาโนเมตร เพราะหากตัดแสงสีน้ำเงินในช่วงความยาวคลื่นมากกว่านี้จะไปทำลายกลไกการหลั่งฮอร์โมนที่เป็นประโยชน์ในร่างกายดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น

ฝากทิ้งท้าย

        นอกจากเลนส์ที่ดีมีคุณภาพแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญและสำคัญมากยิ่งกว่าคือมาตรฐานการตรวจวัด และวิเคราะห์ค่าสายตา และการเลือกโครงสร้างของเลนส์ให้เหมาะสมกับความผิดปรกติของสายตา เพราะหากผู้ให้บริการสามารถตรวจวัดระบบสายตาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เลือกโครงสร้างของเลนส์ได้ตรงกับความผิดปรกติของสายตา ย่อมนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาสายตาได้อย่างที่ถูกต้องและสมบูรณ์แบบที่สุด ส่วนเรื่องฟังก์ชันเสริมของเลนส์ที่เราเลือกใช้นั้นผมเองมองว่าเป็นเรื่องรองครับ

อนิรุจน์ เรือนทองดี

นักตรวจปรับสายตา


[2020-10-27]