สาระน่ารู้


สายตาสองข้างแตกต่างกัน (Anisometropia)



สายตาสองข้างแตกต่างกัน (Anisometropia)

          สายตา 2 ข้างแตกต่างกันหมายถึงภาวะสายตาที่ไม่เท่ากัน โดยจะเกิดจากสาเหตุกระจกตามีความโค้งแตกต่างกัน (curvature of eyeball) หรือกระบอกตามีความยาวไม่เท่ากัน (axial length of eyeball) แบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ

1.ข้างหนึ่งเป็นสายตายาวส่วนอีกข้างเป็นสายตาสั้น

2.เป็นสายตายาวทั้งสองข้างแต่ค่าสายตามีความแตกต่างกัน

3.เป็นสายตาสั้นทั้งสองข้างแต่ค่าสายตามีความแตกต่างกัน

       วิธีการทดสอบด้วยตนเองให้หาจุดสังเกตมองจุดใดจุดหนึ่งเช่นตัวเลขหรือตัวอักษร ปิดตาทีละข้างและสังเกตความคมชัดของตาแต่ละข้าง ในกรณีที่สวมใส่แว่นตาอยู่แล้วให้ทดสอบโดยสวมแว่นตาและปิดตาทีละข้าง หากพบว่าตาแต่ละข้างมีความคมชัดแตกต่างกันให้รีบทำการตรวจเช็คสายตาโดยผู้เชี่ยวชาญหรือไปพบจักษุแพทย์ก็ได้เพื่อทำการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาสายตาที่เป็น

       โดยปรกตินั้นคนเรามอง 2 ตาแต่เห็นเป็นภาพเดี่ยวเป็นผลเนื่องมาจากกลไกการรวมภาพของสมอง โดยจะเห็นเป็นภาพ 3 มิติ สามารถรับรู้ได้ถึงความลึก ความตื้น หรือระยะใกล้ไกลได้ แต่สมองจะรวมภาพของ 2 ตาได้นั้นขนาดภาพจะต้องมีความต่างกันไม่เกิน 5-6 % หรือสายตา 2 ข้างต้องมีความต่างกันไม่เกิน 2.50 D(สองร้อยห้าสิบ) เราเรียกภาวะการณ์มองเห็นภาพมีขนาดต่างกันเรียกว่า Aniseikonia

      แต่ปัญหาสายตา 2 ข้างต่างกันในเด็กนั้น เด็กสามารถรับความต่างของค่าสายตาได้มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นหากพบสายตาผิดปรกตินั้นควรได้รับการแก้ไขตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อทำให้กลไกการรวมภาพ การ fusion ภาพ จะได้ทำงานเป็นปรกติและสมดุลกันของตาทั้ง 2 ข้าง
              

วิธีการแก้ไขสายตาสองข้างต่างกัน

1.สวมแว่นตา

   1.1 ในผู้ใหญ่ถ้าสายตาต่างกันไม่มากอาจจะใส่เต็มจำนวน แต่ถ้าสายตาแตกต่างกันมากควรจ่ายค่าสายตาแบบขั้นบันได กล่าวคือค่อย ๆ ใส่ค่าสายตาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาที่นัดตรวจจนสามารถรับความแตกต่างของค่าสายตาให้ได้มากที่สุด

   1.2 ในเด็กควรเลือกใส่แบบเต็มจำนวน เพราะเด็กสามารถรับความต่างของค่าสายตาได้มากกว่าผู้ใหญ่ แต่ถ้าสายตาต่างกันเยอะควรใส่ค่าสายตาแบบค่อยเป็นค่อยไป นัดตรวจและเปลี่ยนค่าสายตาเป็นระยะ ๆจนกว่าจะใส่ได้แบบเต็มจำนวน

2. คอนแทคเลนส์ เนื่องจากคอนแทคเลนส์นั้นจะสวมใส่แบบติดกับกระจกตาทำให้ปัญหาเรื่องขนาดภาพ (Aniseikonia) ลดลง ผู้สวมใส่จะรู้สึกสบายตาปรับตัวง่าย แต่ต้องระวังเรื่องเชื้อโรค และต้องรักษาความสะอาด

3. ทำ Lasik สามารถทำได้เพื่อแก้ปัญหาสายตาต่างกันแต่ควรทำหลังจากผ่านพ้นวัยเรียนไปแล้วนั่นคืออายุควรจะ 21-22 ปี ผ่านไปแล้ว

4. การผ่าตัด เมื่ออายุมากขึ้นปัญหาสายตาต่างกันอาจทำได้โดยการใส่เลนส์แก้วตาเทียม โดยการเอาเลนส์ตาจริงออกและใส่เลนส์ตาเทียมเข้าแทนที่(เหมือนการผ่าตัดต้อกระจก) แต่วิธีนี้จะแก้ไขได้เฉพาะระยะไกล หากต้องการดูใกล้ต้องใส่แว่นสายตายาวช่วย

5.การใส่เลนส์เสริม ทำโดยการกรีดกระจกตาและสอดเลนส์เข้าไปเสริมที่ชั้นด้านในของกระจกตาทำให้สายตากลับมาเป็นปรกติ แต่ถ้าหากอายุ 40 ปีขึ้นไปเวลาอ่านหนังสือหรือดูใกล้ต้องใส่แว่นสายตายาวช่วย

 สายตา ข้างแตกต่างกันที่ไม่ได้รับการแก้ไขอาจเกิดอันตรายต่อระบบการมองเห็นดังนี้

1. ถ้าสายตาแตกต่างกันมาก หากไม่ได้รับการแก้ไขจะทำให้เป็นโรคตาขี้เกียจ (amblyopia) ได้ เพราะฉะนั้นหากพบความผิดปรกติควรได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด ยิ่งพบในเด็กเล็กแก้ไขไวเท่าไหร่ยิ่งดี

2. ถ้าหากสายตาต่างกันเกิน 6.00 D หากไม่ได้แก้ไขจะทำให้เกิดการดับสัญญาณภาพจากสมองในข้างที่ด้อยกว่า (Suppression) จนนำไปสู่การเป็นโรคตาเขตาเหล่ในที่สุด

3. คนที่มีปัญหาสายตา 2 ข้างแตกต่างกัน (Anisometropia) กว่าร้อยละ 50 จะมีปัญหาเรื่องตาเขตาเหล่ร่วมด้วย เพราะฉะนั้นในการวัดสายตาต้องตรวจฟังก์ชันการทำงานของกล้ามเนื้อตาร่วมด้วยเสมอ

      บางคนสวมใส่แว่นอยู่เป็นประจำแต่ไม่เคยสังเกตเห็นเลยว่าตัวเองมีปัญหาสายตา 2 ข้าง มีความต่างกัน ช่างทำแว่นบางคนก็มักง่ายไม่สนใจเรื่องนี้เวลาสายตามีปัญหาก็ใส่ค่าสายตาเท่ากันทั้ง 2 ข้าง(กลัวใส่ต่างกันแล้วคนไข้ปรับตัวไม่ได้) โดยไม่สนใจผลกระทบของคนไข้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมักง่ายเกินไป 

      ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในร่างกาย หากระบบสายตามีปัญหาควรได้รับการดูแลและการแก้ไขอย่างดีที่สุดเพราะการมองเห็นคือชีวิต และชีวิตคือการมองเห็น

                    นายอนิรุจน์ เรือนทองดี

          ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการมองเห็น 

                              


[2020-03-03]