สาระน่ารู้


Eye strain


ตาล้า

Eye strain (ตาล้า)

       เป็นปัญหาสายตาที่เกิดจากการใช้สายตาต่อเนื่องกันนาน ๆ จนเกิดอาการล้าทางสายตา หรือปวดเมื่อยรอบดวงตา เช่นอ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์ หรือการขับรถยนต์เป็นระยะเวลานาน อาการตาล้าไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อาการตาล้าสามารถรักษาให้หายได้ หากมีการพักสายตาและการบริหารดวงตาที่ถูกต้อง

อาการของตาล้าเป็นอย่างไร

        อาการของผู้ที่มีอาการตาล้าจะรู้สึกถึงการล้าทางสายตา ปวดเมื่อยรอบดวงตา ปวดศีรษะ มองภาพไม่คมชัด โฟกัสภาพลำบาก แพ้แสง เคืองตา เห็นภาพซ้อน ตอนกลางคืนมองเห็นภาพแย่ลง โดยอาการที่พบได้บ่อยที่สุดคือการปวดศีรษะ ปวดล้ารอบดวงตาและการปวดตึงขมับ

สาเหตุของตาล้า

         โดยปรกติเมื่อเรามองระยะใกล้ดวงตาทั้งสองข้างจะเบนเข้าหากัน(Convergence) , รูม่านตาจะหด และกล้ามเนื้อ Ciliary จะหดตัว ทั้ง 3 สิ่งนี้จะทำงานสัมพันธ์กัน หากทั้งสามสิ่งนี้ทำงานต่อเนื่องกันนาน ๆ โดยไม่มีการพักสายตาจึงเกิดอาการล้าทางสายตาได้ อาการตาล้านั้นมีหลายสาเหตุโดยทั่วไปที่พบส่วนใหญ่จะเกิดจากการ

  • ใช้สายตาต่อเนื่องกันนานกว่า 2 ชั่วโมง ทำให้กล้ามเนื้อ Ciliary muscle (กล้ามเนื้อยึดเลนส์) ซึ่งทำหน้าที่ในการช่วยเลนส์แก้วตาในการปรับโฟกัสภาพในการมองระยะต่าง ๆ ทำงานหนักเกินไป เช่นเมื่อเราใช้สายตาเพ่งมองนาน ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คอมพิวเตอร์ แทบเลต โทรศัพท์มือถือ การอ่านหนังสือ การขับรถยนต์ หรือแม้กระทั่งแสงสีฟ้าจากหน้าจอดิจิตอล กิจกรรมเหล่านี้ล้วนทำให้มีอาการตาล้าทั้งสิ้น
  • มีปัญหากล้ามเนื้อตา ฟังก์ชั่นการทำงานของกล้ามเนื้อตาทำงานผิดปรกติ และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องทำให้เกิดปัญหามองเห็นภาพซ้อน จนนำไปสู่ปัญหาล้าทางสายตา
  • มีปัญหาทางสายตาแต่ไม่ได้รับการแก้ไขให้กลับมาเป็นปรกติ ทำให้ระบบการทำงานของกล้ามเนื้อตาผิดปรกติ ส่งผลให้ระบบการเพ่งมองผิดปรกติตามไปด้วยทำให้เกิดอาการตาล้าในที่สุด

การดูแลและแก้ไขปัญหาตาล้า

  • สำหรับท่านที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำควรปรับหน้าจอให้อยู่ในท่าที่เหมาะสม ปรับความสว่างหน้าจอไม่ให้สว่างเกินไปหรือมืดจนเกินไป ปรับขนาดตัวอักษรให้เหมาะสมขณะพิมพ์งานจะได้มองสบายตาไม่ต้องเกร็งกล้ามเนื้อตา ปรับแสงสว่างบนโต๊ะทำงานให้เหมาะสมไม่สว่างมากเกินไปและควรหลีกเลี่ยงแสงรบกวนจากภายนอก
  • พักตาเป็นระยะโดยใช้สูตร 20-20-20 คือ พักสายตาจากการทำงานทุก 20 นาที เป็นเวลา 20 วินาที และมองไกลในระยะ 20 ฟุต ให้ดวงตาได้พักผ่อนก่อนทำงานต่อไป
  • บริหารกล้ามเนื้อตาเพื่อบรรเทาความเครียด ลดการปวดกระบอกตา และลดการล้าทางสายตา โดยมีขั้นตอนดังนี้
  1. กรอกตาขึ้นสูงสุด และ ลงต่ำสุด ทำอย่างช้า ๆ และไม่ต้องเกร็งลูกตาประมาณ 2-3 ครั้ง และกรอกตาไปขวาสุดและซ้ายสุดอีก 2-3 ครั้ง
  2. ชูนิ้วขึ้นมาในระดับสายตา ห่างจากดวงตาประมาณ 8 นิ้ว มองไปที่ระยะไกลประมาณ 10 ฟุต(ให้มีเป้าการมองไกล) สลับกับการมองนิ้วมือ ใช้เวลามองแต่ละจุดประมาณ 2-3 วินาที ทำสลับไปมาประมาณ 10 ครั้งแล้วพัก 1 วินาที ทำ 2-3 รอบโดยประมาณ
  3. กลอกตาเป็นวงกลมในทิศทางตามเข็มนาฬิกา สลับกับกรอกตาในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา โดยกระทำอย่างช้า ๆ ประมาณ 10-12 ครั้ง และพัก 1-2 วินาที ทำแบบนี้ประมาณ 2-3 รอบ

สรุป

         ในปัจจุบัน Eye strain (ตาล้า) หรืออาการตาล้า เริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากโลกสมัยใหม่เป็นโลกแห่งเทคโนโลยี มีการใช้อุปกรณ์ดิจิตอลมาอำนวยความสะดวกกันอย่างแพร่หลาย ชีวิตอยู่ติดกับหน้าจอไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แทบเลต โทรศัพท์มือถือ ทำให้เราพบเจอกับปัญหาตาล้าได้มากขึ้น การดูแลสุขภาพตาของตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ การพักสายตา การบริการกล้ามเนื้อตาล้วนแล้วแต่ทำให้สุขภาพตาดีขึ้น

          นอกจากนี้เราควรตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยจักษุแพทย์ เพราะโรคตาบางชนิดยังไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นและจะแสดงออกให้เห็นก็ต่อเมื่อกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่แล้ว หากเราตรวจเจอปัญหาเสียแต่เนิ่น ๆ ย่อมทำให้เรารักษาได้อย่างทันท่วงที เพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียดวงตาอันเป็นที่รักของเราได้ ด้วยความปารถนาดีจาก “ศูนย์แว่นตาเรือนทอง”

                                                                             อนิรุจน์ เรือนทองดี

                                                                            นักตรวจปรับสายตา


[2022-04-03]


บทความที่เกี่ยวข้อง

ทำไมต้องวัดสายตาที่ระยะ 6 เมตร และระยะ 6 เมตรสำคัญอย่างไร
ราคาเลนส์สายตาแพงไหม ราคาเท่าไหร่
แสงสีน้ำเงินมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร
ตาเขตาเหล่กับสายตาเอียงต่างกันอย่างไร
โรคออฟฟิตซินโดรม (Office syndrome)
โรคตาขี้เกียจ (AmblyOpia หรือ Lazy eye)
การดูแลและการถนอมสายตาตัวเอง
ตาแห้ง
วิธีการเลือกซื้อแว่นตากันแดด
เลนส์ Polarized (โพลาไรซ์)
สายตาสั้นเทียม (Pseudomyopia)
ตาเหล่ซ่อนเร้น(Phoria)
ตาเข ตาเหล่ (Strabismus)
วิธีบริหารกล้ามเนื้อตาเพื่อบรรเทาอาการภาพซ้อน(Eye exercises to ease double vition)
สายตาสองข้างแตกต่างกัน (Anisometropia)
ผลเสียของการประกอบแว่นไม่ตรงกับจุดศูนย์กลางตาดำ(ผิดตำแหน่ง)