Case Report


Convergence Excess


การแก้ไขปัญหาสายตาเมื่อพบว่าลูกค้ามีปัญหาปวดกระบอกตา มีอาการล้าทางสายตา แสบตา และ เห็นภาพซ้อนบางครั้งในระยะใกล้ ด้วยเลนส์โปรเกรสซีฟ

Convergence Excess

การแก้ไขปัญหาสายตาเมื่อพบว่าลูกค้ามีปัญหาปวดกระบอกตา มีอาการล้าทางสายตา แสบตา และ เห็นภาพซ้อนบางครั้งในระยะใกล้ ด้วยเลนส์โปรเกรสซีฟ

บทนำ  

        ในส่วนของการตรวจระบบการทำงานของกล้ามเนื้อตาวัตถุประสงค์หลักนั้นมิได้มุ่งเน้นเพียงแค่จ่ายเลนส์ปริซึมเพื่อเข้าแก้ไขเท่านั้น การแก้ไขด้วยเลนส์ปริซึมเป็นเพียงแค่แนวทางหนึ่ง แต่การตรวจกล้ามเนื้อตานั้นเป็นการตรวจเพื่อวิเคราะห์และเป็นแนวทางในการแก้ไขว่าเราจะแก้ไขด้วยกำลังสายตาเพียงลำพัง หรือใช้การบริหารกล้ามเนื้อตาเข้าร่วมด้วย หรือต้องจ่ายเลนส์ปริซึมเข้าแก้ไขร่วมด้วยและต้องจ่ายในปริมาณเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม

         ใน Case ตัวอย่างวันนี้ก็เช่นกันลูกค้ามีปัญหาด้านกล้ามเนื้อตาแต่เมื่อตรวจฟังก์ชันการทำงานของกล้ามเนื้อตากับพบว่าการจ่ายเลนส์ปริซึมไม่ใช่แนวทางการแก้ไขที่ถูกต้อง หากแต่การปรับสมดุลของค่าสายตาที่ถูกต้องในการมองใกล้เพียงเท่านี้ก็ทำให้ลูกค้ามีความสบายตามากยิ่งขึ้นหมดปัญหาการเมื่อยล้าทางสายตาได้

เข้าเรื่อง

      คนไข้รายหนึ่งเพศหญิงอายุ 20 ปี เมื่อตรวจสอบแว่นเก่าที่ใช้อยู่พบว่ามีปัญหาสายตาสั้นในปริมาณมาก และลูกค้าคอมเพลนว่ามีปัญหาด้านสายตาเวลามองระยะใกล้ โดยมีอาการดังนี้ มักจะมีอาการปวดศีรษะ แสบตา ไม่สบายตาในเวลาที่ต้องทำงานในระยะใกล้และมีอาการล้าทางสายตาหลังจากใช้สายตาในระยะใกล้ มีบางครั้งอาจจะเห็นภาพซ้อนระยะใกล้ ลูกค้ามีปัญหาสายตาแบบนี้มานานมากแล้ว ตัดแว่นที่ไหนก็ไม่เคยแก้ไขการมองเห็นในระยะใกล้ได้เลย

ประวัติแว่นเดิมที่ใช้

          OD = -4.00 VA 20/30

          OS = -4.50  VA 20/30

สายตาที่วัดได้ใหม่

           OD = -4.25 -0.50 x 160 VA  20/20

           OS = -4.75 -0.50 x 15  VA 20/20

          OU = VA 20/15

           Esophoria @ near 8 prism

           orthophoria @ distance

           Non Vertical phoria

           Negative fusional vergence (BI reserve @ near) 4 / 10 / 2

           Positive relative of accommodation (PRA) = -1.75

           Negative relative of accommodation (NRA) = +3.00

           Near point of convergence (NPC) = 5 cm.

           AC/A = 8:1

       จากข้อมูลเบื้องต้นจะเห็นได้ว่าคนไข้ไม่มีปัญหาของกล้ามเนื้อตาในระยะไกล แต่มีปัญหาตาเหล่เข้าซ่อนเร้น (esophoria) ในระยะใกล้สูงมากถึง 8 prism และค่า NFV มีค่าต่ำกว่ามาตรฐาน ยืนยันจากค่า PRA ที่ต่ำด้วย แต่กลับพบว่าคนไข้มีค่า NRA มากกว่าปรกติ และ NPC ก็ต่ำกว่าเกณฑ์ ที่สำคัญ AC/A มีค่าที่สูงกว่าปรกติ จากข้อมูลจึงสะท้อนให้เห็นว่าคนไข้มีปัญหากล้ามเนื้อตาโดยปัญหาที่พบคือคนไข้มีกำลังในการเหลือบข้าวของตามากกว่าปรกติ เราจะเรียกปัญหาแบบนี้ว่า convergence excess (CE) 

        แนวทางการรักษาเบื้องต้นอาจให้คนไข้ฝึกบริหารกล้ามเนื้อตาเพื่อเพิ่มกำลังชดเชยในการถ่างออกของตา Negative fusional vergence (NFV) แต่การฝึกกล้ามเนื้อตาในแนวนี้ทำยากมาก จึงอาจต้องพิจารณาจ่ายเลนส์ prism โดยใช้กฎของ 1:1 rule ดังนี้    

BO prism = (esophoria – BI recovery) / 2

BO prism = (8 – 2) / 2 = 3 prism BO

       จากกฎของ 1:1rule จะพิจารณาจ่าย 3 prism BO ในการมองระยะใกล้ให้มีความสบายตามากยิ่งขึ้น แต่ถ้าหากเราจะหลีกเลี่ยงการจ่ายเลนส์ปริซึมเราจะทำอย่างไรให้คนไข้มองสบายตาทั้งระยะใกล้ละระยะไกล

       ถ้าหากพิจารณาจากค่า AC/A ที่มากถึง 8:1 จะพบว่ามีค่าที่สูงมาก หากเราสามารถลด accom ได้ ก็จะทำให้ vergence ลดลงได้เช่นเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเลนส์ prism เราจึงพิจารณาจากค่า AC/A โดยจ่ายค่า add ด้านล่างของเลนส์ในส่วนการอ่านหนังสือ อาจจะจ่ายเป็นแว่นเลนส์ 2 ชั้น หรืออาจใช้เลนส์โปรเกรสซีฟก็ได้ โดยการกระตุ้นด้วยเลนส์ (+) เพื่อคลายการเพ่ง (accom) คนไข้รายนี้หากกระตุ้นด้วยเลนส์ +1.00 ในส่วนการอ่านหนังสือจะทำให้ตาเหล่เข้าซ่อนเร้น (esophoria) ลดลงถึง 8 prism กลายเป็นตาตรงพอดีในระยะใกล้

        คนไข้รายนี้อายุยังน้อยหากจ่ายเป็นแว่นตาแบบเลนส์ 2 ชั้นอาจจะขาดความสวยงาม เราจึงพิจารณาเลนส์สายตาที่ตอบสนองต่อการมองเห็นและสามารถลด vergence ได้ด้วย จึงมาสรุปได้ด้วยเลนส์โปรเกรสซีฟ ที่ให้ทั้งความคมชัดสบายตาและความสวยงาม        

ค่าสายตาที่จ่ายเป็นดังนี้

OD = -4.25 -0.50 x 160 VA 20/20

OS = -4.75 -0.50 x 15 VA 20/20

ADD 1.00

      หลังจากผ่านไปหนึ่งสัปดาห์คนไข้มารับแว่นที่สั่งทำไว้ ทางร้านได้แนะนำวิธีการใช้ และให้ลองสวมใส่อ่านหนังสือประมาณครึ่งชั่วโมงคนไข้บอกว่ามีความชัดเจนดี อาการล้าทางสายตาและปวดกระบอกตาน้อยลงมากสบายตามากขึ้น ปัญหาที่เคยเห็นภาพซ้อนในบางครั้งหายไป สังเกตุเห็นลูกค้ามีความสุขกับการอ่านหนังสือมากขึ้น ว๊าป ผ่านไปอีกหนึ่งสัปดาห์ทางร้านได้ติดตามโทรไปสอบถามและติดตามผลงาน ลูกค้าบอกว่าขอบคุณมากที่ดูแลเป็นอย่างดี ตอนนี้สบายตามากยิ่งขึ้นสวมใส่ประจำมีความคุ้นชินกับแว่นตาอันใหม่แล้ว ทางร้านก็คงต้องบอกว่าขอบคุณมาก ๆ เช่นกันครับที่ไว้วางใจให้เราดูแลปัญหาด้านสายตา 

สรุป 

         หลักในการแก้ไขปัญหาระบบการมองเห็นนั้นเป็นสิ่งสำคัญ การตรวจฟังก์ชันการทำงานของกล้ามเนื้อตาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่แนวทางในการแก้ไขปัญหาการมองเห็นนั้นไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่จ่ายค่ายสายตาให้ตรงกับความผิดปรกติเท่านั้น หรือ หากพบกล้ามเนื้อตาผิดปรกติก็ไม่ได้มุ่งเน้นจ่ายเลนส์ปริซึมเท่านั้น หากแต่การแก้ไขต้องบูรนาการ ต้องครอบคลุมทุกปัญหาและต้องเหมาะสมกับปัญหาที่เป็น

        เลนส์ปริซึมไม่ใช่ยารักษาโรค จะใช้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น และเราต้องยืนยันได้ว่าหากจ่ายไปแล้วต้องช่วยให้คนไข้กลับมามีความสุขกับการใช้สายตาและมีความสบายตาจริง ๆ

 

ขอบคุณจากใจที่ติดตามอ่านบทความของผมครับ

นาย อนิรุจน์ เรือนทองดี

ผู้เชี่ยวชาญด้านสายตา


[2020-10-12]