สาระน่ารู้


ผลเสียของการประกอบแว่นไม่ตรงกับจุดศูนย์กลางตาดำ(ผิดตำแหน่ง)



ผลเสียของการประกอบแว่นไม่ตรงกับจุดศูนย์กลางตาดำ(ผิดตำแหน่ง)

บทนำ       

       หลังจากที่เราได้ค่าสายตามาแล้ว(จากการวัดสายตาที่ถูกต้องตามหลักทัศนมาตร) ขั้นตอนต่อไปคือขั้นตอนในการประกอบแว่นตา ซึ่งโดยปรกติเราจะวางตำแหน่งศูนย์กลางเลนส์(optical center)ให้ตรงกับศูนย์กลางตาดำ ถ้าหากวางตำแหน่งถูกต้องผู้สวมใส่จะรู้สึกถึงความชัดเจนและสบายตาแต่ถ้าหากวางตำแหน่งผิดพลาดจะโดยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ หรือ จะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตามมันจะส่งผลเสียต่อระบบการมองเห็นของผู้สวมใส่อย่างใหญ่หลวง  

       วันนี้ผมจะมาอธิบายและสร้างความเข้าใจให้กับทุกท่าน อาจจะดูยากสักหน่อยสำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวิชาชีพนี้ (บางท่านอยู่ในวิชาชีพนี้แต่ไม่มีความรู้เรื่องกล้ามเนื้อตาก็อาจจะเข้าใจยากเช่นกัน) แต่ผมว่าถ้าหากตั้งใจอ่านและทำความเข้าใจผมเชื่อว่าทุกท่านจะได้ประโยชน์จากบทความที่ผมเขียนนี้อย่างแน่นอนครับ

หน้าที่ของกล้ามเนื้อกลอกตา (Extraocular muscles)

        โดยปรกติดวงตาของเราจะมีกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนที่ของตาเราเรียกกล้ามเนื้อนี้ว่า กล้ามเนื้อกลอกตา(extraocular muscles)อยู่ในเบ้าตา มีอยู่ด้วยกันข้างละ 6 มัด ทำหน้าที่ในการเหลือบไปในทิศทางต่าง ๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น ทำให้ลานสายตากว้างขึ้น เพื่อควบคุมการมองพร้อมกันทั้งสองตาให้เป็นแบบ Binocular vision(การมองภาพแบบสามมิติ) เวลาเหลือบตาไปในทิศทางต่าง ๆ ดวงตาทั้งสองข้างจะเหลือบไปในทิศทางเดียวกัน แต่เวลามองใกล้ดวงตาทั้งสองข้างจะเบนเข้าหากันเราเรียกว่า Convergence และการเบนเข้าของตาทั้งสองข้างร่างกายต้องการทั้งหมด 15  pd (อ่านว่า 15 ปริซึม ไดออฟเตอร์) และเวลามองไกลดวงตาจะถ่างออกเพื่อรับภาพในระยะไกลที่ระยะอนันต์เราเรียกว่า Divergence

ความสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อกลอกตา (Extraocular muscles)กับการประกอบแว่นตา

          ในส่วนของการประกอบแว่นตานั้นเราจะวางตำแหน่งศูนย์กลางเลนส์(Optical center) ให้ตรงกับตำแหน่งรูม่านตาของตาแต่ละข้าง(ศูนย์กลางตาดำ) ถ้าหากวางตำแหน่งผิดพลาดกล้ามเนื้อกลอกตา(Extraocular muscles)ของตาขวาและตาซ้ายจะทำงานขาดความสมดุลกันจะส่งผลให้ปวดกระบอกตาและเมื่อยล้าตาและหากฝืนทนใส่ไปนาน ๆ อาจจะทำให้เป็นโรคกล้ามเนื้อตาได้

          การวางตำแหน่งที่วางจุด optical center ที่ผิดพลาดเราจะคำนวณเป็น prism โดยใช้สูตร pd(prism diopter) = DF

          กำหนดให้ pd คือ prism diopter , D คือค่าสายตา , F คือระยะประกอบที่ผิดพลาดมีหน่วยเป็นเซนติเมตร

 ตัวอย่างการประกอบที่ผิดพลาด

      แว่นตามีค่าสายตา R=L= -6.00 ประกอบผิดพลาดข้างละ 0.5 เซนติเมตร

      เพราะฉะนั้นจะเกิด prism ในเลนส์ข้างละ     d = DF = 6 X 0.5 = 3.0  pd

                         สองข้างรวมกันเท่ากับ 6 pd (6 prism diopter)

        ถ้าหากประกอบตรงตำแหน่งจะเกิด prism effect = 6 x 0 = 0     d (0 prism diopter)

                จากตัวอย่างเราจะเห็นได้ว่าหากประกอบแว่นตรงตำแหน่งของจุด optical center จะไม่เกิด prism effect ในเลนส์เลยผู้สวมใส่แว่นจึงรู้สึกสบายตา(แต่ต้องมาจากค่าสายตาที่ถูกต้อง) แต่ถ้าประกอบผิดพลาดข้างละ 0.5 เซนติเมตร จะเกิด prism effect ของตาทั้งสองข้างมากถึง 6 pd ทำให้ผู้สวมใส่แว่นตาจะต้องใช้แรงของกล้ามเนื้อตา(Extraocular muscles)ชดเชยสำหรับ prism effect ที่เกิดขึ้นนั้นเพื่อรักษาสมดุลของการมองพร้อมกันทั้งสองตา(binocular vision) ทำให้เกิดความไม่สบายตา,ปวดศีรษะ,ปวดกระบอกตา,เมื่อยล้าดวงตา,คลื่นไส้อยากจะอาเจียน และถ้าหากฝืนทนใส่ไปนาน ๆ จนร่างกายสามารถปรับตัวได้ก็จะส่งผลเสียต่อระบบกล้ามเนื้อตา(extraocular muscles) โดยกล้ามเนื้อตาจะทำงานไม่สมดุล ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้เป็นโรคกล้ามเนื้อตาได้

CASE ตัวอย่าง

           ลูกค้ารายหนึ่งทำงานอยู่กรุงเทพฯ แต่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ เดินเข้ามาด้วยปัญหาสายตาสั้นมาก มีสายตาเอียง สายตาสองข้างแตกต่างกันมาก เมื่อไม่นานมานี้ได้ตัดแว่นตาที่ร้านดังในกรุงเทพฯ แต่ใส่แล้วไม่ชัดและไม่สบายตา ใส่แล้วมีอาการเมื่อยล้าทางสายตา ปวดกระบอกตา อีกปัญหาหนึ่งคือกรอบแว่นใหญ่และเลนส์หนามาก ๆ ลูกค้าจึงใส่สลับกับแว่นเดิมที่ตัดมาหลายปีแล้ว ทางร้านได้เช็คดูค่าสายตาแว่นเดิมได้ค่าสายตาดังนี้

         R = -9.00 -2.00 X 180

          L = -8.50 -2.00 X 180

          และเมื่อเช็คจุดโฟกัสในการประกอบแล้วพบว่าแว่นตาอันนี้ประกอบผิดตำแหน่งไปทางด้านกว้างข้างละ 0.6 cm. และเมื่อนำค่าสายตามาคำนวณหา prism effect แล้วพบว่า   

          R จะเกิด prism effect = 9 x 0.6 = 5.4 pd (prism diopter)

          L จะเกิด prism effect = 8.5 X 0.6 = 5.1 pd (prism diopter)

       Prism effect 2 ข้าง ที่เกิดทั้งหมด 5.5 + 5.1 = 10.5 pd (prism diopter)

          จะเห็นได้ว่าลูกค้ารายนี้ต้องทนสวมใส่แว่นตาที่ประกอบมาผิดพลาดสองข้างรวมกันมากถึง 10.5 pd(prism diopter) ทำให้มีอาการไม่สบายตา ปวดกระบอกตา เมื่อยล้าทางสายตา

      โดยแว่นที่ประกอบนั้นประกอบไปทางกว้างมากเกินไป เสมือนกับการกระตุ้นให้เกิดการเบนเข้าของตา(Convergence)มากกว่าปรกติ ถึง 10.5 pd ซึ่งคนปรกติต้องการ convergence เพียง 15 pd(prism diopter) เท่านั้น แต่คนไข้รายนี้ convergence มากถึง 15 + 10.5 = 25.5 pd(prism diopter) กล้ามเนื้อตาจึงต้องออกแรงเพิ่มมากกว่าปรกติในการดึงลูกตาออก ( Negative fusional vergence )

           สายตาที่วัดได้ใหม่

             เมื่อทำการตรวจวัดสายตาและตรวจฟังก์ชันการทำงานของกล้ามเนื้อตาโดยวิธีเฉพาะทางคลีนิคแล้วพบว่าคนไข้มีสุขภาพสายตาดี ไม่มีปัญหาด้านกล้ามเนื้อตา สายตาที่ตรวจวัดได้เป็นดังนี้

R = -10.00 - 2.50 X 175 orthophoria (ตาตรง)

L = - 8.50 - 2.25 X 180 orthophoria (ตาตรง)

             คนไข้ได้ทำแว่นใหม่กับทางร้าน 1 อัน โดยใช้ค่าสายตาที่ทางร้านตรวจวัดได้ และเลือกรอบแว่นที่มีขนาดเหมาะสม เลือกเลนส์ย่อบาง 1.74 เมื่อคนไข้รับแว่นผลปรากฏว่าคนไข้สวมใส่แล้วมีความชัดเจนสบายตา อาการปวดกระบอกตา และ อาการเมื่อยล้าทางสายตาหายไป สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตลอดวัน

           ข้อสังเกตุ

             ถ้าลองสังเกตุจากค่าสายตาจะพบว่าค่าสายตาที่ทางร้านวัดได้ใหม่โดยเฉพาะด้านขวามือจะมีค่าสายตามากกว่าแว่นเดิมที่คนไข้ไปทำมาจากกรุงเทพฯ แต่คนไข้สวมใส่แว่นตาจากทางร้านชัดเจนและสบายตากว่าอย่างเห็นได้ชัด แสดงว่าระยะประกอบที่ผิดพลาดมีผลต่อระบบการมองเห็นเป็นอย่างมาก

สรุป

         เพราะฉะนั้นจึงสรุปได้ว่าในส่วนของการประกอบแว่นนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยต้องได้รับการประกอบจากผู้มีความรู้ความเข้าใจด้านระบบการมองเห็น และที่สำคัญต้องประกอบให้ตรงจุด optical center เพราะหากประกอบโดยขาดความรู้ความเข้าใจด้านการทำงานของกล้ามเนื้อตา จะเกิดผลเสียต่อระบบการมองเห็นอย่างใหญ่หลวง  สุดท้ายอยากฝากถึงผู้มีปัญหาทางด้านระบบการมองเห็นสักเล็กน้อยนะครับว่า การตรวจวัดระบบการมองเห็นนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ควรได้รับการตรวจวัดสายตาอย่างถูกต้องตามหลักทัศนมาตรจากผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ และอีกส่วนสำคัญคือสมควรได้รับการประกอบอย่างถูกต้องตรงตามหลักวิชาการเท่านั้น

          แว่นตาที่ดีไม่จำเป็นต้องถูกที่สุดและไม่จำเป็นต้องแพงที่สุด แต่แว่นตาที่ดีต้องสวมใส่แล้วชัดเจนที่สุด สบายตาที่สุด สวมใส่แล้วทำให้เรามีคุณภาพชีวิตดีที่สุด นี่คือนิยามของคำว่าดีที่สุดของแว่นตา ที่เราต้องการเพียวแค่หนึ่งอันเท่านั้น

                                                      

                นายอนิรุจน์ เรือนทองดี

      ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการมองเห็น 
                         


[2020-03-03]