สาระน่ารู้


โรคตาขี้เกียจ (AmblyOpia หรือ Lazy eye)



โรคตาขี้เกียจ (AmblyOpia หรือ Lazy eye)   

    โรคตาขี้เกียจ คือภาวะที่การมองเห็นของตาแต่ละข้างหรือทั้งสองข้างไม่สามารถมองเห็นได้อย่างสมบูรณ์แบบ ส่วนใหญ่จะเริ่มเกิดตั้งแต่เด็กและไม่ได้แก้ไขปัญหาก่อนอายุ 7 ปีแรก เพราะช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยที่มีการพัฒนาการการมองเห็นสูงสุด ส่งผลให้การรับภาพโดยสมองจากตาลดน้อยลง  จึงทำให้เกิดเป็นโรคตาขี้เกียจตามมา    

สาเหตุของการเกิดโรคตาขี้เกียจ ( AmblyOpia)

1.มีปัญหาสายตาสั้นหรือยาวมาเกินไปและไม่ได้รับการแก้ไขก่อนอายุ 7 ปีแรก ทำให้การพัฒนาการด้านการมองเห็นถูกพัฒนาได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

2.มีปัญหาสายตาสองข้าง สั้น ยาว หรือเอียง แตกต่างกันมาก ทำให้สมองเลือกรับภาพของตาข้างที่ดีกว่า และตัดสัญญาณภาพข้างที่ด้อยกว่าทิ้ง ส่งผลให้ตาข้างที่มีปัญหาเยอะเป็นโรคตาขี้เกียจ

3.โรคตาเหล่ โดยเฉพาะคนเป็นเหล่เข้าใน คนเป็นตาเหล่จะมองเห็นภาพซ้อน สมองจึงเลือกใช้ตาข้างที่ดีกว่าในการมองส่งผลให้ตาอีกข้างไม่ได้ใช้งานจึงเป็นโรคตาขี้เกียจตามมา

4.เป็นต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด กระจกตาขุ่นมัว หนังตาตก เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา โรคเหล่านี้แสงจะเดินทางผ่านเข้าไปในตาไม่ดี จึงทำให้มองเห็นภาพไม่ชัด ส่งผลให้เป็นโรคตาขี้เกียจตามมา

5.ความบกพร่องของอวัยวะรับภาพ เป็นแผลบริเวณจุดรับภาพในจอตา หรือความเสียหายของสมองส่วนที่แปลภาพจากการขาดออกซิเจน

           โรคตาขี้เกียจเป็นโรคที่รักษาให้หายได้หากพ่อแม่พาลูกมาตรวจตาตั่งแต่ยังเล็ก และได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องก่อนอายุ 7 ขวบ แต่พ่อแม่หลายๆคนก็ยังไม่รู้จักว่าโรคตาขี้เกียจคืออะไรจึงไม่ได้พาลูกมาตรวจรักษาอย่างถูกต้อง 

วิธีการรักษา

1.ในกรณีที่เป็นโรคทางตา เช่นต้อกระจก เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา หนังตาตก ต้องได้รับการผ่าตัดก่อน หลังจากนั้นจึงทำการกระตุ้นพัฒนาการทางด้านการมองเห็นของเด็ก เช่นปิดตาข้างที่ดีให้ใช้ตาข้างที่ไม่ดีบ้าง

2.ในกรณีที่เด็กเป็นตาเหล่และเริ่มมีอาการตาขี้เกียจควรให้ปิดตาข้างที่ดีให้ใช้ตาข้างที่ไม่ดีอย่างน้อยวันละ 6 ชั่งโมง เพื่อฝึกพัฒนาการทางด้านการมองเห็น เด็กแต่ละรายอาจใช้เวลาไม่เท่ากันบางคนอาจใช้เวลานานหลายปี

3.สำหรับเด็กในรายที่มีปัญหาทางสายตา ให้สวมใส่แว่นแก้ปัญหาทางสายตา ควบคู่ไปกับการปิดตาข้างที่ดีเพื่อกระตุ้นการมองเห็นข้างที่ไม่ดี

        การรักษาโรคตาขี้เกียจเป็นความจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือของ พ่อ แม่ และผู้ปกครอง ตั่งแต่สังเกตุพฤติกรรมการมองของเด็ก หากพบความผิดปรกติควรพามาพบจักษุแพทย์ หากเข้าตรวจและรับการรักษาอย่างถูกต้องโรคตาขี้เกียจก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นพ่อ แม่ ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการรักษา

           เด็กเล็กทุกคนควรได้รับการตรวจตาอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์ก่อนเข้าโรงเรียน เพราะจะช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับดวงตาของเด็กในอนาคตได้ครับ     

                                                                                                               

                               นายอนิรุจน์ เรือนทองดี

                    ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการมองเห็น 
 


[2020-03-04]