สาระน่ารู้


ตาแห้ง



ตาแห้ง

       ตาแห้งเป็นโรคตาที่เกิดจากระบบต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติ ทำให้มีปริมาณน้ำตาไม่เพียงพอหรือมีการระเหยของน้ำตาที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการไม่สบายตา เช่น เคืองตา แสบตา ตาแห้ง เป็นต้น ตาแห้งเกิดได้ทุกเพศทุกวัย หากปล่อยทิ้งไว้และไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดการอักเสบและเกิดการดึงรั้งของเปลือกตาทำให้ขนตาทิ่มเข้าตาได้ และหากอักเสบมากจนกระจกตาเป็นแผลอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด

สาเหตุของภาวะตาแห้ง

- ความเสื่อมของต่อมน้ำตา ซึ่งเป็นต่อมที่อยู่ที่เปลือกตา ทำหน้าที่สร้างน้ำตามาหล่อลื่นดวงตา

- เป็นโรคเบาหวาน เพราะจะส่งผลให้เกิดการอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อของเซลล์ต่อมน้ำตา จึงสร้างน้ำตาลดลง

- การหลั่งฮอร์โมนในร่างกายผิดปรกติ เช่นผู้สูงวัยและโดยเฉพาะในเพศหญิงวัยหมดประจำเดือน ทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง

- การใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานานติดต่อกันหลายปี

- อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน มลภาวะ

- พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานเกินไป

- การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด เป็นต้น เพราะยากลุ่มนี้มีผลโดยตรงต่อการหลั่งของน้ำตา

อาการของโรคตาแห้ง

-คันตา แสบตา ระคายเคืองตา เวลากระพริบตารู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมคล้ายเม็ดทรายหรือฝุ่นอยู่ในตา

-บางรายมีขี้ตาเป็นเมือกเหนียวยืดเป็นเส้น เพราะน้ำตามีส่วนประกอบของน้ำเมือกและน้ำมัน เมื่อโดนแดดและลม น้ำจะถูกระเหยไป จึงทำให้เมือกข้นมากขึ้น ผู้ป่วยจึงมีขี้ตาซึ่งมีลักษณะเป็นเมือกสีขาว หรือสีเหลืองนวลมากกว่าปกติ

-แพ้แสง แพ้ลม ตามัวในบางขณะ

-มีการอักเสบบริเวณตาขาว มีสีแดงเรื่อ ๆ ขอบเปลือกตาแดง

-ตื่นนอนตอนเช้ารู้สึกไม่สบายตา

การดูแลรักษา

- หลีกเลี่ยงการโดนฝุ่น ลม และแสงแดด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตาแห้งโดยการสวมใส่แว่นตากันแดดที่ป้องกันแสง UV ได้

- โดยปรกติคนเราจะกระพริบตา 20-22 ครั้งต่อ 1 นาที แต่หากเราเพ่งมองวัตถุในระยะใกล้นาน ๆ หรือเพ่งมองหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ เราจะกระพริบตาน้อยลงทำให้ตาแห้งได้ เราจึงควรกระพริบตาถี่ ๆ เพื่อให้น้ำตาฉาบผิวกระจกตาป้องกันตาแห้ง

- หากต้องใช้คอมพิวเตอร์ หรือ สมาร์ทโฟน เป็นเวลานาน ๆติดต่อกันควรหาแว่นตากรองแสงหน้าจอคอมมาสวมใส่เพื่อปกป้องดวงตาของคุณเอง

- การใช้น้ำตาเทียมเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ควรเลือกชนิดที่ไม่มีสารกันเสีย หยอดตาวันละ 3-4 ครั้ง

- การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดการเพ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน และพักสายตาเป็นระยะๆโดยพักสายตา 3-4 นาที ต่อครึ่งชั่วโมง

 - หากมีอาการอักเสบรุนแรงอาจใช้ยาหยอดตากลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบของผิวนัยน์ตาหรือผิวเยื่อบุตา และช่วยบรรเทาอาการคันระคายเคืองตาแต่การใช้ยากลุ่มนี้จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และใช้เป็นช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น

- การทำความสะอาดเปลือกตาด้วยน้ำยาพิเศษ เพื่อกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกที่อยู่บริเวณรอบเปลือกตา

- การประคบน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 41-43 องศาเซลเซียสเป็นประจำเช้า-เย็น

- การนวดและทำความสะอาดเปลือกตา (การกดรีดไขมันตามแนวการวางตัวของต่อมไมโบเมียนที่ขอบเปลือกตา)

- ดื่มน้ำมากๆเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นต่อดวงตา 
          
                                                                                                     

                         นายอนิรุจน์ เรือนทองดี

               ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการมองเห็น 
 


[2020-03-04]