CASE REPORT
ตอน Pseudoconvergence insufficiency (กำลังในการเหลือบเข้าของดวงตาอ่อนแรงแบบเทียม)
Case นี้ ถ้าอ่านจั่วหัวเนื้อเรื่องคงจะรู้สึกว่าแปลก ๆสักหน่อย หลาย ๆท่านอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน วันนี้ทางร้านจะมาไขข้อข้องใจให้หายสงสัยเกี่ยวกับปัญหาด้านระบบการมองเห็นชนิดนี้ให้เข้าใจปัญหามากยิ่งขึ้น
Pseudoconvergence insufficiency (กำลังในการเหลือบเข้าของดวงตาอ่อนแรงแบบเทียม) เป็นปัญหาที่มักพบได้บ่อย ๆ เป็นภาวะที่ตามีปัญหาเหล่ออกแบบซ่อนเร้นในระยะใกล้มากกว่าในระยะไกลและกำลังชดเชยในการรวมภาพน้อยกว่าปรกติ (Positive fusional vergence ต่ำกว่าเกณฑ์) ซึ่งเป็นผลจากดวงตามี Lag of accommodation มากกว่าปรกติจึงทำให้ Accommodative convergence ลดต่ำลงด้วยเช่นกับ
หลายท่านที่ไม่ได้อยู่ในสายวิชาชีพนี้หากได้อ่านอาจจะรู้สึกงง ๆ สักหน่อย ผมเองในฐานะผู้มีความรู้ความเข้าใจด้านนี้จะค่อย ๆอธิบายและลงรายละเอียดให้เข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ลองอ่าน case ตัวอย่างดูครับ จะเข้าใจมากยิ่งขึ้น
เข้าเรื่อง
มีลูกค้าอายุ 34 ปี เดินเข้ามาด้วยปัญหาแว่นสายตาอันเดิมที่ใช้อยู่มองไม่ค่อยชัดและเลนส์เป็นรอยเนื่องจากใช้งานมาหลายปีแล้ว จึงอยากที่จะเปลี่ยนแว่น
ปัญหาแว่นเก่านอกจากมองไกลไม่ชัดแล้ว ขณะมองใกล้หากดูระยะใกล้ อ่านหนังสือ หรือใช้คอมพิวเตอร์นาน ๆ จะรู้สึกไม่สบายตาและมีอาการเมื่อยล้ารอบดวงตา แต่ไม่มีอาการภาพซ้อน
ทางร้านเช็คค่าสายตาแว่นเดิมได้ค่าดังนี้
R = -5.00 -0.25 x 90 VA 20/25+2
L = -5.75 -0.25 x 90 VA 20/25+2
ค่าสายตาใหม่ที่วัดได้
R = -4.75 -0.50 x 85 VA 20/20+2
L = -5.75 -0.50 x 105 VA 20/20+2
Add +0.75
ผลตรวจกล้ามเนื้อตา
Exo @ distance 3 prism base in (อยู่ในเกณฑ์ปรกติ) ระยะไกลไม่มีปัญหาด้านการมองเห็น
Exo @ near 10 prism base in (ต่ำกว่าเกณฑ์) จึงต้องทำการตรวจค่าอื่น ๆ ต่อ
วิเคราะห์ผลตรวจ
จากปัญหาสายตาของลูกค้าและผลตรวจสรุปได้ว่าลูกค้ามีปัญหาหลัก ๆในด้านการมองระยะใกล้ จากค่าของผลตรวจทางคลินิกจึงสรุปได้ว่าลูกค้าเป็น Pseudoconvergence insufficiency (กำลังในการเหลือบเข้าของดวงตาอ่อนแรงแบบเทียม) เนื่องจากดวงตามีปัญหาเหล่ออกแบบซ่อนเร้นระยะใกล้ในปริมาณที่มากกว่าปรกติ แต่สาเหตุที่ตาเหล่ออกนั้นไม่ได้เกิดจากปัญหากล้ามเนื้อตาโดยตรงแต่เกิดจากตามี Lag of accommodation มากเกินไป ฟ้องด้วยค่า BCC ถึง +0.75 D อาการทางสายตาแบบนี้ต้องพิจารณาจ่ายเลนส์สายตาชนิดที่สามารถลดการเพ่งของตาในระยะใกล้ได้และที่สำคัญต้องไม่กระทบกับการมองในระยะไกล ทางร้านจึงพิจารณาจ่ายแว่นตาที่เป็นเลนส์โปรเกรสซีฟเพื่อลดการเพ่งของดวงตาในระยะใกล้ โดยค่าสายตาที่จ่ายเป็นดังนี้
R = -4.75 -0.50 x 85
L = -5.75 -0.50 x 105
Add +0.75
เมื่อลูกค้ามารับแว่นเห็นได้ชัดว่าลูกค้ามองไกลชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะมองใกล้ลูกค้าโฟกัสภาพได้ชัดขึ้น สบายตามากยิ่งขึ้น ลูกค้าปรับตัวกับเลนส์โปรเกรสซีฟได้ทันที ไม่มีปัญหาด้านการใช้งาน
สรุป
ปัญหาสายตานั้นมีมากมายหลายชนิดไม่ใช่มีแค่สายตา สั้น ยาว หรือเอียงเพียงเท่านั้น หากผู้ให้บริการเข้าใจในทุกปัญหาด้านระบบสายตา ผู้ที่เข้ามาใช้บริการย่อมจะพบกับความสุขกับการใช้แว่นตาและการดูแลปัญหาสายตาของตัวเอง
อนิรุจน์ เรือนทองดี
ผู้เชี่ยวชาญด้านการมองเห็น