สาระน่ารู้


ตาเหล่ซ่อนเร้น(Phoria)



ตาเหล่ซ่อนเร้น(Phoria)

        โดยปรกติมนุษย์มี 2 ตา แต่มองเห็นเป็นภาพเดียวและภาพที่เห็นจะเป็นแบบ 3 มิติ สามารถรู้ระยะความลึกความตื้นความห่าง สามารถกะระยะได้ เราเรียกการมองเห็นแบบนี้ว่า Binocular vision และตาทั้งสองข้างจะมองไปในทิศทางเดียวกันตลอด ยกเว้นเวลามองใกล้ตาจะหุบเข้าหากันซึ่งเราเรียกการหุบเข้าหากันของตาว่า Convergence กล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนที่ของตาเราเรียกว่า Extra Ocular Muscle จะมีอยู่จำนวน 6 มัด ทำงานประสานกันตลอด เราเรียกคนที่มีระบบกล้ามเนื้อตาเป็นปรกติไม่มีปัญหาตาเหล่ว่าตาตรง (Orthophoria)

       เมื่อดวงตามองภาพที่ระยะอนันต์หรือตั่งแต่ 6 เมตรขึ้นไป กล้ามเนื้อภายในลูกตา (ciliary body) และเลนส์ตาจะอยู่ในสถานะคลายตัว แต่ถ้ามองในระยะใกล้เข้ามากล้ามเนื้อภายในลูกตา(ciliary body) จะหดตัว เลนส์ตาจะพองขึ้นเพื่อเพิ่มกำลังการหักเหเพื่อรับภาพระยะใกล้ให้ชัดเจนเราเรียกระบบนี้ว่า Accommodation ซึ่งกลไกเหล่านี้จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ และที่สำคัญระบบ Convergence และAccommodation จะทำงานไปด้วยกันและจะทำงานประสานกันและเกี่ยวเนื่องกันตลอด โดยประสาทสั่งงานอัตโนมัติคู่ที่ 3 ซึ่งอยู่ที่ก้านสมอง เป็นตัวควบคุม

       ตาเหล่ซ่อนเร้น(Phoria) อยู่ในกลุ่มอาการหนึ่งของตาเหล่(Strabismus) เป็นสภาวะการณ์ทำงานผิดปรกติของกล้ามเนื้อตาทั้ง 6 มัด (Extra Ocular Muscle) ซึ่งจะควบคุมการเคลื่อนที่ของตาในทิศทางต่าง ๆ ตาเหล่ชนิดนี้มองเผิน ๆ จะไม่เห็นความผิดปรกติมองดูด้วยตาเปล่าก็จะดูเหมือนคนตาตรงทั่วไป ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ในภาวะการณ์มองเห็นแบบสองตา (Binocular vision) ต้องทดสอบโดย Break fusion เพื่อหาตำแหน่งของดวงตาในสภาวะปรกติเมื่อไม่มีการรวมภาพว่าตำแหน่งของตาที่แท้จริงนั้นดวงตาอยากจะอยู่ในตำแหน่งใด เช่นอยากจะอยู่ทางหัวตา อยากจะอยู่ทางหางตา อยากจะอยู่ทางเปลือกตาด้านบน หรืออยากจะอยู่ทางเปลือกตาด้านล่าง 

      นอกจากตาเหล่ซ่อนเร้นจะมีความเกี่ยวพันกับกล้ามเนื้อตา Extra Ocular Muscle  โดยตรงแล้วยังเกี่ยวพันกับระบบ Accommodation และ Convergence อีกด้วย เช่นโรคกำลังในการเหลือบตาต่ำกว่าปรกติ (convergence  Insufficiency) , กำลังในการเพ่งเพื่อโฟกัสภาพน้อยกว่าปรกติ(Accommodative Insufficiency) , กำลังในการเหลือบมากกว่าปรกติ(convergence excess)

       สำหรับการทดสอบหามุมเหล่นั้นเราจะทำการตรวจด้วยวิธีเฉพาะทางคลินิก แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ Dissociate phoria หรือ Associate phoria เช่น Cover-Uncover test และ Alternate cover test , maddox rod , von graefe test  ฯ 

 

        สำหรับตาเหล่ซ่อนเร้นนั้นเราจะแบ่งออกเป็น 2 แนวคือ แนวตั้ง (Horizontal)และแนวนอน (Vertical) ทั้งหมดแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ดังนี้  
 

        ตาเหล่ซ่อนเร้นแนวนอน (Horizontal) 

1.ตาเหล่ซ่อนเร้นแบบเข้าใน (Esophoria)

2.ตาเหล่ซ่อนเร้นแบบออกนอก (Exophoria)

        ตาเหล่ซ่อนเร้นแนวตั้ง (Vertical) 

1.ตาเหล่ซ่อนเร้นแบบขึ้นบน (Hyperphoria)

2.ตาเหล่ซ่อนเร้นแบบลงล่าง (Hopophoria)

       สำหรับตาเหล่ซ่อนเร้นแนวตั้ง(Vertical) จะต้องมีข้างหนึ่งอยู่สูง และ อีกข้างหนึ่งต้องอยู่ต่ำเสมอ เวลาเรียกต้องบอกว่าข้างไดข้างหนึ่งเป็นหลักและต้องอยู่สูงกว่าเสมอ เช่น ตาข้างขวาเป็น Hyperphoria ข้างซ้ายต้องเป็น Hypophoria เราจะเรียกทางClinic ว่า Right-Hyperphoria 

       ตาเหล่ซ่อนเร้น(Phoria)สามารถเกิดร่วมกันได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน เช่น R= Esophoria 2 BO,R=Hyperphoria 3 BD แสดงว่าตาข้างขวามีทั้งเหล่เข้าซ่อนเร้นและเหล่ขึ้นแบบซ่อนเร้น

       ตาเหล่ซ่อนเร้น (Phoria) ส่งผลกระทบต่อสมองในส่วนการแปรสัญญาณภาพ การมองเห็นและยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก บางคนไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหาทางตาเหล่ซ่อนเร้น(Phoria)ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการที่เป็น ตัวอย่างอาการที่แสดงออกเช่น

- ปวดศีรษะ เห็นภาพซ้อน ตากระตุก

-เวลาอ่านหนังสือแล้วปวดรอบดวงตา คลื่นใส้อยากจะอาเจียน

- อ่านหนังสือกระโดดข้ามแถว ตัวหนังสือกระโดดไป ๆ มา ๆ

- มีอาการเคลียดรอบดวงตา มีอาการล้าทางสายตา

- แสบตา น้ำตาไหล แพ้แสง

- ต้องทำคอเอียงหรือหันหน้าไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อลดอาการภาพซ้อน  

- ต้องหลับตาข้างหนึ่งเวลาอ่านหนังสือ

วิธีการแก้ไขปัญหาตาเหล่ซ่อนเร้น(Phoria)

1.       หากมุมเหล่ไม่มากอาจพิจารณาให้สวมแว่นตาและทำการบริหารกล้ามเนื้อตาเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อตาให้กลับมาแข็งแรงเพื่อดึงลูกตากลับออกมาจากมุมเหล่นั้น เพื่อให้เกิดการรวมภาพที่สมบูรณ์ของทั้งสองตาได้

2.       หากการสวมแว่นตาและการบริหารกล้ามเนื้อตายังไม่สามารถช่วยได้อาจจำเป็นต้องจ่ายเลนส์ Prism เพื่อให้ช่วยในการรวมภาพของตาทั้งสอง และลดอาการล้าทางตา และที่สำคัญการจ่ายเลนส์ Prism ให้คนไข้จะต้องมีการบริหารกล้ามเนื้อตาร่วมด้วยเสมอ

3.       หากการใช้เลนส์ปริซึมยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดกล้ามเนื้อตามัดที่มีปัญหาเพื่อแก้ไขให้ตาตรง สำหรับในส่วนนี้จะอยู่ที่ดุลพินิจของจักษุแพทย์โดยเฉพาะ

         ในภาวะปัจจุบันบางท่านมีปัญหาทางสายตาและมีปัญหาด้านตาเหล่ซ่อนเร้น(Phoria)แต่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ระบบสายตามีปัญหาอย่างไร พอมีปัญหาก็เดินเข้าร้านแว่นอยากได้แว่นดี ๆ เพื่อแก้ปัญหาระบบสายตาของตัวเอง ตอนวัดสายตาก็ชัดแต่ทำออกมาแล้วก็ใช้ไม่ได้ เมื่อใช้ไม่ได้ก็หาร้านใหม่อีกเพื่อพยายามจะแก้ปัญหาของตัวเองให้ได้ เสียเงินเสียทองกับการตระเวนตัดแว่น แต่สุดท้ายแว่นตาที่ได้ก็ไม่สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบ นี่คือตัวอย่างของปัญหาทางด้านตาเหล่ซ้อนเร้น

           หากพูดถึงศาสตร์ทางด้านการตรวจตาเพื่อหามุมเหล่ซ่อนเร้น(Phoria)ของดวงตาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหานั้นปัจจุบันหาผู้มีความเชี่ยวชาญด้านนี้น้อยมาก ๆ ทำให้ปัญหาทางตาเหล่ซ่อนเร้น(Phoria) ไม่ได้ดูแลและแก้ไขอย่างเป็นระบบ ทางร้าน “ศูนย์แว่นตาเรือนทอง” ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงได้นำเอาข้อมูลจริงมานำเสนอต่อผู้ที่มีความสนอกสนใจทุกท่านให้มีความเข้าใจและได้เห็นถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านไม่มากก็น้อย

 สรุป 

       ปัญหาสายตาที่เกิดขึ้นนั้นนอกจาก สายตาสั้น,สายตายาว,สายตาเอียง แล้วนั้นยังมีปัญหาทางระบบสายตาที่ต้องดูแลและแก้ไขอย่างเป็นระบบด้วยนั่นคือปัญหากล้ามเนื้อตา เช่นปัญหาตาเหล่ซ่อนเร้น (Phoria) หากผู้ตรวจมีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ปัญหาทางด้านระบบสายตาดังกล่าวย่อมได้รับการแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม และทำให้เขากลับมามีคุณภาพการมองเห็นอย่างเต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง ในการจ่ายเลนส์ Prism เพื่อแก้ปัญหากล้ามเนื้อตาและแก้มุมเหล่ซ่อนเร้นนั้นช่วยให้คนไข้กลับมามองพร้อมกันทั้งสองตาได้เป็นปรกติก็จริงแต่ที่สำคัญอีกอย่างคือผู้จ่าย Prism ต้องติดตามอาการเป็นระยะ ๆ และต้องสามารถยืนยันได้ว่า Prism ที่จ่ายไปนั้นสามารถช่วยให้คนไข้กลับมามองเห็นเป็นปรกติจริง ๆ

                                                                                                                                

                       นายอนิรุจน์ เรือนทองดี

              ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการมองเห็น 
 


[2020-03-03]