ข้อมูลด้านสายตา


สายตาเอียง



สายตาเอียง (Astigmatism)

       เป็นภาวะที่แสงจากวัตถุผ่านเข้าสู่ตาไม่รวมเป็นจุดเดียวเช่นคนปกติ แต่แสงในแต่ละแนว เช่น แนวตั้งฉาก แนวนอน แนวทแยงต่างก็แยกกันรวมกันเป็นจุดโฟกัสในแนวของตัวเอง โดยที่แนวตั้งก็รวมกันอยู่จุดหนึ่ง แนวนอนก็รวมกันอยู่อีกจุดหนึ่ง ซึ่งในแต่ละแนวอาจมีจุดรวมแสงตกข้างหน้าจอประสาทตา ตรงจอประสาท หรือหลังจอประสาทตาก็ได้ ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากกระจกตามีความโค้งในแต่ละแนวไม่เท่ากันทำให้มีการหักเหของแสงแตกต่างกันไป

ชนิดของสายตาเอียง

สายตาเอียงสม่ำเสมอ  

          สายตาเอียงแบบสม่ำเสมอคือสายตาเอียงที่กำลังการหักเหของแนวที่มีกำลังสูงสุดและต่ำสุดตั้งฉากกัน เราสามารถแบ่งตามชนิดของสายตาเอียงแบบสม่ำเสมอได้ดังนี้

- กำลังการหักเหแนวหนึ่งปกติ แต่อีกแนวหนึ่งอาจเป็นสายตาสั้นหรือสายตายาว 

- กำลังการหักเหผิดปรกติทั้ง 2 แนว โดยอาจเป็นสายตาสั้นทั้ง 2 แนว หรือสายตายาวทั้ง 2 แนว แต่ต่างกำลังกัน 

- กำลังการหักเหแนวหนึ่งเป็นสายตาสั้น ส่วนอีกแนวหนึ่งเป็นสายตายาว 

สายตาเอียงแบบไม่สม่ำเสมอ

      สายตาเอียงแบบไม่สม่ำเสมอ คือการที่กำลังการหักเหของแนวที่มีกำลังหักเหสูงสุดและต่ำสุดไม่ตั้งฉากกัน มักเกิดในรายที่มีแผลเป็นที่กระจกตา กระจกตาไม่เรียบ และไม่อาจแก้ไขด้วยการใช้เลนส์ทรงกระบอก แต่ต้องใช้คอนแทคเลนส์หรือผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์แทน

 อาการ 

        ผู้ป่วยจะมีอาการสายตามัว มองเห็นไม่ชัด แพ้แสง เห็นภาพเป็นเงาซ้อน ต้องคอยหยีตาเพื่อให้มองเห็นได้ดีขึ้น ในบางรายต้องคอยเพ่งช่วยเพื่อปรับโฟกัส จนรู้สึกปวดเมื่อยตา ตาล้า หรือตาเพลีย หากใช้สายตามาก ๆ และไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากจะมองเห็นไม่ชัดแล้ว ยังอาจทำให้เกิดอาการปวดกระบอกตา ปวดศีรษะได้ง่ายอีกด้วย 

  การแก้ไข 

       โดยทั่วไปแนวที่มีกำลังหักเหสูงสุดและต่ำสุดมักจะอยู่ในแนวตั้งฉากกัน ซึ่งจะเป็นสายตาเอียงแบบสม่ำเสมอที่พบได้ในผู้ป่วยสายตาเอียงทั่วไป และสามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้เลนส์ทรงกระบอก (Cylinder) ซึ่งมีกำลังเดียว

       

หมายเหตุ สายตาเอียงแบบสม่ำเสมอนั้นสามารถเกิดร่วมกับคนที่เป็นสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาผู้สูงอายุ ก็ได้ จากสถิติในประเทศไทยพบว่า ผู้ที่มีปัญหาสายตากว่า 30-50% มักจะมีค่าสายตาเอียงร่วมด้วย


[2020-03-02]